LOGO-Main
หลักสูตรการบริหารจัดการด้านความมั่นคงขั้นสูง (มส.)

Advanced Security Mangement Program

มูลนิธิการจัดการเพื่อความมั่นคง

Security Management Foundation

คำกล่าว พล.อ. ดร.มารุต ปัชโขตะสิงห์ ผอ.หลักสูตรการบริหารจัดการด้านความมั่นคงขั้นสูง พิธีเปิดการอบรม มส. ๑๖

Share
คำกล่าว พล.อ. ดร.มารุต ปัชโขตะสิงห์
ผอ.หลักสูตรการบริหารจัดการด้านความมั่นคงขั้นสูง
พิธีเปิดการอบรม มส. ๑๖
วันเสาร์ที่ ๑๘ พ.ย. ๖๖ ณ อาคารทรงกลม ห้องออดิทอเรียม โรงแรม เซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
เรียน​ พลเอก จรัล กุลละวณิชย์
ประธานมูลนิธิการจัดการเพื่อความมั่นคง
​กระผม พลเอก ดร. มารุต ปัชโชตะสิงห์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการบริหารจัดการด้านความมั่นคงขั้นสูง
ซึ่งวันนี้เป็นวันเปิดการอบรมวันแรกของหลักสูตรการบริหารจัดการด้านความมั่นคงขั้นสูง รุ่นที่ ๑๖ กระผมจึงขอรายงานเกี่ยวกับการดำเนินการจัดการอบรมในครั้งนี้ เพื่อกรุณาทราบดังนี้.-
​ตามที่ มูลนิธิการจัดการเพื่อความมั่นคง ได้มีนโยบายให้มีการจัดการอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการด้านความมั่นคงขั้นสูง รุ่นที่ ๑๖ นั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
เสริมสร้างทักษะการวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันเกี่ยวกับความมั่นคงในมิติต่างๆ สามารถวิเคราะห์และสังเคราะห์แนวทางในการเสริมสร้างพลังปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพ และให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติในด้านต่างๆ
การเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ และความมั่นคงของโลกภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันและเป็นการเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้เข้ารับการอบรมด้วยกัน
รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นบุคคลที่ มีคุณธรรม จริยธรรม ในการทำดีเพื่อสังคม ซึ่งหลังจากสำเร็จการอบรมไปแล้ว สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่อตนเอง ต่อองค์การ ต่อสังคมและประเทศชาติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
​จำนวนผู้เข้ารับการอบรมในรุ่นที่ ๑๖ นี้ จำนวน ๑๕๐ คน
เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ๒๖ คน บุคคลทั่วไป/เอกชน ๑๒๔ คน แบ่งเป็น สุภาพสตรี ๖๐ คน / สุภาพบุรุษ ๙๐ คน ระยะเวลาการอบรมกำหนดตั้งแต่ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ถึง ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๗ รวม ๖ เดือนเศษ
ภาควิชาการจะมีการอบรมทุกบ่ายวันเสาร์ จำนวน ๒๕ ครั้ง
มีดูกิจการ ต่างจังหวัด ๒ ครั้ง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ๒ ครั้ง กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
สำหรับโครงสร้างของหลักสูตรฯ ได้กำหนดประเด็นสำคัญออกเป็น ๔ กลุ่มสาระ ดังนี้
กลุ่มสาระที่ ๑ การวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ
กลุ่มสาระที่ ๒ การเสริมสร้างพลังอำนาจของชาติในมิติต่างๆ
กลุ่มสาระที่ ๓ ความมั่นคงของมนุษย์กับการพัฒนาที่ยั่งยืน
กลุ่มสาระที่ ๔ ภาวะผู้นำยุคใหม่และการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม
​สำหรับภาควิชาการจะมี การถกแถลงและสัมมนาด้วย
โดยแบ่งผู้เข้ารับการอบรมสำหรับการถกแถลงออกเป็น ๘ กลุ่ม มีการถกแถลง ๒ ครั้ง และแบ่งกลุ่มสัมมนา
ออกเป็น ๔ กลุ่ม มีการสัมมนา ๔ ครั้ง
โดยได้กำหนดประเด็นการสัมมนาไว้ ๔ เรื่อง ด้วยกัน
คือ ๑) เศรษฐกิจ BCG กับความมั่นคงแห่งชาติ
๒) ธุรกิจผิดกฏหมายกับความมั่นคงแห่งชาติ
๓)การกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค : มิติการศึกษา
๔) การบูรณาการอำนาจการปกครองระหว่างส่วนกลาง
ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น
จากการดำเนินการดังกล่าว เป็นที่คาดหวังว่า จะเป็นการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นคลังสมองของประเทศ ให้มีองค์ความรู้ที่ทันสมัย ในองค์ประกอบความมั่นคงแห่งชาติ โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงของมนุษย์ มีทักษะหลักคิดที่ถูกต้องมีหลักเกณฑ์และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารด้วยกันเพื่อร่วมกันสร้างเสริมความมั่นคงแห่งชาติโดยรวมต่อไป ซึ่งเป็นไปตามปรัชญาและวิสัยทัศน์ ของหลักสูตรฯ และ มูลนิธิการจัดการเพื่อความมั่นคง
​บัดนี้ได้เวลาอันเป็นอุดมมงคลฤกษ์แล้ว
กระผมขอกราบเรียนเชิญท่านพลเอกจรัล กุลละวณิชย์ ประธานมูลนิธิการจัดการเพื่อความมั่นคง ประธานในพิธีกรุณาให้โอวาทและเปิดการอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการด้านความมั่นคงขั้นสูง รุ่นที่ ๑๖ ต่อไปครับ.